วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เทคโนโลยีการสื่อสาร


หันมาเลือกใช้ไอทีกรีนเทคโนโลยี ช่วยลดปัญหาโลกร้อน
หากได้อ่านข่าวเล็กๆ จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 12 ก.ย.2550 ที่หัวข่าวระบุว่า เหตุจากทะเลน้ำแข็งลดลง หวั่นหมีขั้วโลกจะตาย เป็นเบือ รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (ยูเอสจีเอส) คาดว่าช่วงระหว่างครึ่งแรกของศตวรรษหน้านั้น หมีขั้วโลกจะหายไปจากชายฝั่งทางตอนเหนือของอลาสกา และรัสเซีย และสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยแถบขั้วโลกเหนือไปถึง 42% โดยบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่จำเป็นแก่การอยู่อาศัยในฤดูร้อนในบริเวณ โพลาร์เบซิลที่หมีขั้วโลกจะใช้เป็นที่ออกล่าหาอาหารและเพาะพันธุ์ ทั้งยังคาดประมาณว่าหมีขั้วโลกจะมีชีวิตอยู่ได้แค่อีก 30 ปี
รายงานดังกล่าวแจ้งว่า ความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตกับน้ำแข็งในทะเลนั้น จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียประชากรหมีขั้วโลกราว 2 ใน 3 ของประชากรหมีขั้วโลกในขณะนี้ ในราวกลางศตวรรษที่ 21” แล้วข่าวนี้เกี่ยวอะไรกับวงการไอที คำตอบก็ คือ เกี่ยวกันแน่นอนจากข่าวที่ยกมานั้นเป็นผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) หากท่านผู้อ่านเคยชภาพยนตร์ “AnInconvenient Truth”ของนายอัลกอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแล้ว ส่วนหนึ่งได้เล่าไว้ถึงเรื่องหมีขั้วโลกที่จะต้องตาย เพราะว่ายน้ำเพื่อหาแผ่นน้ำแข็งในระยะทางที่ไกลจนเหนื่อยแล้วจมน้ำ
การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ย่อมมีการใช้พลังงานที่สูง หากมีการใช้งานจำนวนมากๆ ก็ย่อมกินพลังงาน และปล่อยความร้อนออกมาก โดยเฉพาะตามดาต้า เซ็นเตอร์ หรือเซิร์ฟเวอร์ฟาร์มของบริษัทใหญ่ๆ ที่ปริมาณความร้อนสูงก็ย้อมต้องใช้เครื่องปรับอากาศจำนวนมาก เพื่อทำให้ระบบเย็นลง กลายเป็นการใช้ไฟฟ้าจำนานมาก และการผลิตไฟฟ้าก็ต้องใช้พลังงานเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ตัวหมีขั้วโลกนี่เองที่ทาง บริษัท ไอบีเอ็ม ยักษ์สีฟ้าของวงการไอทีนำเอามาเป็น สัญลักษณ์ของการรณรงค์สร้างจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงาน
หนึ่งในแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ทางบริษัท ไอบีเอ็ม ได้ประกาศออกมา และดำเนินการแล้ว คือ การผนวกรวมคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ราว 3,900 เครื่องไว้บนเมนเฟรม ตระกูล System z ราว 30 เครื่อง ที่รันระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux) ตามโครงการปรับเปลี่ยนดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลก โดยไอบีเอ็มคาดการณ์ว่าสภาพแวดล้อมเซิร์ฟเวอร์แบบใหม่นี้ จะใช้พลังงานน้อยกว่าระบบที่มีอยู่ประมาณ 80% และคาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซอฟต์แวร์ และการสนับสนุนระบบได้อย่างมากในช่วงเวลา 5 ปี ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนดังกล่าว จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานไอทีของไอบีเอ็มมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งสามารถรองรับสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากบริษัท ไอบีเอ็ม ระบุว่า โครงการปรับเปลี่ยนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Project Big Green ที่ได้เปิดตัวเมื่อเดือน พ.ค.2550 ที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ของไอบีเอ็มและลูกค้า ด้วยพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์กว่า 8,000,000 ตารางฟุต (เท่ากับสนามอเมริกันฟุตบอล 139 สนาม) ไอบีเอ็มต้องบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด และซับซ้อนที่สุดในโลก โดยดาต้าเซ็นเตอร์หลักๆ อยู่ในนิวยอร์ก คอนเนคติกัต โคโลราโด สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
ไอบีเอ็มคาดว่าโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ที่ครอบคลุมทั่วโลกนี้จะรองรับผู้ใช้ได้กว่า 350,000 ราย และจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับความพยายามอย่างต่อเนื่องของไอบีเอ็มในการออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ที่ก้าวล้ำสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลก ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 เป็นต้นมา ไอบีเอ็มได้ผนวกรวมดาต้าเซ็นเตอร์สำคัญๆ ทั่วโลกจาก 155 แห่ง จนเหลือเพียง 7 แห่ง
ข้อมูลจากบริษัท ไอบีเอ็ม ระบุอีกว่า โครงการผนวกรวมนี้จะใช้ประโยชน์จากความสามารถของเมนเฟรมหนึ่งเครื่อง ในการทำงานได้เหมือนกับเซิร์ฟเวอร์หลายร้อยหรือหลายพันเครื่อง ด้วยการทำ เวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization) เป็นเทคโนโลยีที่ไอบีเอ็มนำมาใช้เป็นครั้งแรก บนเครื่องเมนเฟรมเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว โดยทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรระบบของเมนเฟรม เช่น ส่วนประมวลผล ระบบเครือข่าย สตอเรจ และหน่วยความจำ ให้แก่เซิร์ฟเวอร์แบบ เสมือนจริง” (Virtual) หลายๆ เครื่อง เซิร์ฟเวอร์เสมือนจริงแต่ละเครื่องจะทำหน้าที่เป็นเครื่องเซิร์ฟเวอร์แบบกายภาพ ระบบที่ถูกโยกย้ายจะใช้เพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของเมนเฟรมแต่ละเครื่อง อันจะทำให้เหลือพื้นที่ว่างจำนวนมาก สำหรับการขยายตัวในอนาคต
ขณะที่ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ที่เพิ่งฉลองครบรอบ 25 ปี ก็ได้ประกาศแผนการลดการใช้พลังงาน และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะจากการคาดการณ์ของ บริษัท ไอดีซี ระบุว่า ในปี ค.ศ.2010-2015 ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ จะมีค่าใช้จ่ายพลังงานมากในสัดส่วนที่มากกว่าค่าอุปกรณ์ เนื่องจากราคาของอุปกรณ์รุ่นใหม่มีราคาถูกลง ขณะที่อุปกรณ์รุ่นเก่าทั้งเซิร์ฟเวอร์ และสตอเรจยิ่งเก่าก็ยิ่งกินไฟ เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทั้ง 7 วัน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นตัวที่ทำให้ซันต้องออกมามองเรื่องความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น
นายสุธรรม ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาและการขายผ่านพันธมิตร บ.ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทสไทย) จำกัด อธิบายว่า จากรายงานของ บริษัท การ์ทเนอร์ ระบุว่า ในปี 2551 การลงทุนของดาต้าเซ็นเตอร์จะเป็นส่วนของพลังงาน และระบบทำความเย็นมากถึง 50% ตามความต้องการใช้งานอุปกรณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่าไฟฟ้าก็จะเป็นสัดส่วนที่ 10% ของงบประมาณด้านไอทีทั้งหมด โดยสิ่งที่จูงใจให้ลูกค้าองค์หันมาใช้พลังประมวลผลที่คุ้มค่า คือ การลดค่าใช้จ่าย แต่งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดความเสียงจากกฎระเบียบควบคุมของภาครัฐ และลดความต้องการใช้งานในภาวะที่ทรัพยากรระบบมีจำกัด ทั้งหมดนี้นำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการใช้งานเชื้อเพลิงจากไฮโดรคาร์บอน
ผอ.ฝ่ายการพัฒนาและการขายฯ บ.ซัน ไมโครซิสเต็มส์ อธิบายต่อว่า เป้าหมายของซันในโครงการรับผิอดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสร้างสำนักงานที่เป็น Eco-Computing ซันจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกซืด อีก 30,000 ตันหรือลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงอีก 20% ภายในปี ค.ศ.2012 จากปี 2551 พร้อมทั้งก้าวเป็นผู้นำในนวัตกรรมประหยัดพลังงาน ทั้งการใช้เทคดนโลยีเวอร์ชวลไลเซชั่น บนเทคโนโลยีจาวา และโซลาริส เพื่อลดปริมาณการใช้เครื่องลง
นายสุธรรม อธิบายเพิ่มเติมว่า การออกแบบโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ และยังนำเอาซีพียูแยบบดูอัลคอร์มาใช้ ทำให้เครื่องเซิร์ฟเวอร์กินไฟลดลงทั้งโพรเซสเซอร์ UltraSparcของซันเอง หรือของผู้ผลิตรายอื่น เช่น อินเทล และเอเอ็มดี ในส่วนของการจัดเก็บข้อมูลบนสตอเรจ ก็มีการนำเอาเทคโนโลยีมาบริหารข้อมูลที่จัดเก็บไว้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และสุดท้าย คือ การที่ซัน นำเอาบริการเพื่อสังคมผ่านเว็บไซต์ www.network.comที่เป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ให้ดาต้า เซ็นเตอร์ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้ง สาธารณะ ในการใช้ประมวลผลงานวิจัย ที่ซันจะเป็นผู้สนับสนุนให้ก่อนในเรื่องนี้
ส่วนอีกหนึ่งยักษ์ที่ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงานมาสม่ำเสมออย่าง บริษัท ฮิวเลตต์แพคการ์ด หรือเอชพี ก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในแนวคิด กรีนสตอเรจขึ้นมาเช่นกัน นายจิมแวกสตาฟ รองประธานหน่วยธุรกิจ StorageWorks Division ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิคและญี่ปุ่น อธิบายว่า หากดูจากข้อมูลที่เอชพีได้มาจะพบว่า ขณะนี้ ดาต้าเซ็นเตอร์ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 5 เท่าตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการเพิ่มตามกฎของมัวร์ การที่ค่าใช้จ่ายพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ แต่งบประมาณนี้ถูกใช้ไปเพื่อทำความเย็นให้กับดาต้าเซ็นเตอร์มากกว่า การใช้เพื่อซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาทำงานถึง 60-70% ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูลคิดเป็นแค่ 13% ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
ข้อมูลจากบริษัท วิเคราะห์ StorageIO Group พบว่า ปัจจุบันสตอเรจเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานถึง 37-40% จากพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ในศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ แต่ด้วยผลิตภัณฑ์สตอเรจตัวใหม่จากเอชพี ลูกค้าที่ต้องจ่ายค่าไฟสำหรับสตอเรจ 3,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือนจะสามารถประหยัดไฟที่ใช้เป็นพลังงานและใช้ในระบบระบายความร้อนได้มากถึง 18,000 เหรียญสหรัฐต่อปี
รองประธานหน่วยธุรกิจ StorageWorks Division เอชพี อธิบายเสริมว่า เพื่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีที่ประหยัดพลังงาน เอชพีช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถจัดการกับระบบ และการบริการได้อย่างรอบด้าน วิธีการอันหลายหลายของเอชพี ที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ เพิ่มความหนาแน่นของระบบจัดเก็บข้อมูลของคอมพิวเตอร์ และช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดเอชพีจึงมีผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ตามแนวคิดกรีนสตอเรจที่ใช้นวัตกรรม Enterprise Virtual Arry: EVA มาช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการทำความเย็นลดถึง 50% เพื่อให้ ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น 24% และลดความเสี่ยงจากความล้มเหลวของระบบ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการจะกระตุ้นให้องค์กรต่างๆ หันมาซื้ออุปกรณ์ หรือลงทุนปรับปรุงศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ให้เป็นของใหม่รุ่นล่าสุดแต่อย่างใด เพียงแต่อยากให้เห็นถึงประโยชน์จากการทำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ และผลตอบแทนจากการลงทุนที่จะเกิดขึ้น รวมถึงสะท้อนแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ทุกองค์กรจะต้องจ่ายในอนาคต
โดยหากยังปล่อยให้ปัญหาความร้อนและการใช้พลังงานสิ้นเปลื้องอยู่ต่อไป ก็ย่อมจะกระทบต่อการใช้ไฟฟ้า ที่ต้องมีการเพิ่มกำลังการผลิต และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นตาม ปัญหาโลกร้อนก็จะไม่ได้รับการเยียวยา ปล่อยให้โลกร้อนต่อไป ก็ลองคิดดูว่าถ้าหมีขั้วโลกยังจมน้ำตาย แล้วมนุษย์คนเดินดินธรรมดาจะไปเหลืออะไร...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น